วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วิธีแก้ฟุ้งซ่าน

ไปอ่านเจอบทความที่ท่าน
วสิษฐ เดชกุญชร เขียนแก้วิธีแก้ความฟุ้งซ่าน
(นสพ.มติชน อังคาร 11 ก.พ. 46 หน้า 6) จาก http://www.the-thainews.com/misc/journal/jn120246_1.htm ไว้ดังนี้
(ตัดมาบางส่วน)

ท่านบอกว่า "ผมแนะนำวิธีแก้ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิให้ความฟุ้งซ่านเป็นลักษณะธรรมดาของจิต เกิดเพราะเราปล่อยให้มันฟุ้งซ่านจนกลายเป็นนิสัย ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า การแก้ความฟุ้งซ่านทำได้ด้วยการหยุดฟุ้งซ่าน ซึ่งทำได้ยาก แต่ทำได้อย่างแน่นอนถ้าตั้งใจ และทำได้ด้วยสมถสมาธิหรือสมถกรรมฐานนี่แหละ วิธีทำก็คือนั่งให้สบาย จะนั่งบนพื้นในท่าพับเพียบหรือขัดสมาธิ หรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ปล่อยทุกส่วนของร่างกายให้ผ่อนคลายตามธรรมชาติ อย่าเกร็งหรือฝืนหรือขืนไม่ว่าส่วนใดๆ ของร่างกาย แล้วหยุดคิดถึงเรื่องอื่นทั้งหมด คิดถึงแต่เฉพาะลมหายใจของตัวเองที่กำลังเข้าและออกอยู่เท่านั้น ลมหายใจเข้าก็นึกว่าเข้า ลมหายใจออกก็นึกว่าออก พอลงมือทำก็จะรู้ทันทีว่ามีปัญหา ปัญหาใหญ่สองอย่างนั้น อย่างหนึ่งคือเสียงที่มากระทบหู พอได้ยินมันก็ลืมลมหายใจเสียแล้ว และถ้าผู้ได้ยินตามเสียงนั้นไปด้วยความอยากรู้ว่าเป็นเสียงใคร พูดว่าอย่างไร ฯลฯ ก็กลับมาหาลมหายใจอีกได้ยาก หรือไม่ได้เลย วิธีแก้คือปล่อยเสียงนั้นไปตามเรื่องของมัน ส่วนตัวเราหยุดแล้วกลับมาหาลมหายใจใหม่ ให้รู้ว่ากำลังหายใจเข้ากำลังหายใจออกอย่างเดิม เกิดอีกก็แก้อีก เอาใหม่เรื่อยๆ ข้อสำคัญไม่ต้องหงุดหงิดหรือท้อแท้ ไม่รีบสรุปว่าตัวไม่มีบุญและคงทำสมาธิกับเขาไม่ได้ ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งคือความคิดของเราเอง ที่มันคอยจะฟุ้งซ่านขึ้นมา นั่งหายใจอยู่ไพล่ไปคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ปัญหานี้ก็แก้ได้ด้วยวิธีเดียวกัน คือเมื่อรู้แล้วว่าตัวเองคิด ก็อย่าปล่อยใจตามความคิดนั้นไป แต่ให้หยุดเสียแล้วกลับมาหาลมหายใจใหม่ ทำอย่างนี้ทุกคราวที่คิด อย่าหงุดหงิดหรือท้อแท้ หรือรีบสรุปว่าตัวเองคงทำสมาธิกับเขาไม่ได้ ขณะที่กำลังทำสมาธินี้ สิ่งที่ต้องมีอยู่ตลอดเวลาคือ สติ แปลว่าผู้ปฏิบัติต้องไม่เผลอ แต่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ ถ้ามีอาการเลื่อนๆ ลอยๆ แม้จะรู้สึกว่าสบายดีก็ใช้ไม่ได้ ปล่อยไปอาจจะเข้าไปสู่ภาวะที่สงบแต่ไม่รู้ตัว ซึ่งไม่ใช่สมาธิ หากกลายเป็นการสะกดจิตตัวเอง ถ้ามีอาการเช่นว่านี้ต้องแก้ไขด้วยการจัดท่านั่งของตัวเองให้ถูกต้อง นั่งให้ตัวตรงแล้วหายใจเข้าออกแรงๆ หลายๆ ครั้ง ลืมตาดูโลกสักครู่หนึ่งแล้วจึงหลับตาลงและเริ่มทำใหม่ สมาธิเป็นการบริหารจิต จึงต้องทำเสมอ และทำบ่อยๆ ทำจนเป็นนิสัย เช่นเดียวกับการบริหารร่างกาย เวลาอยู่ว่างๆ ต้องไม่คิดถึงเรื่องอื่นแต่กลับไปหาลมหายใจที่กำลังเข้าและออกอยู่ เช่นนี้ จิตจะรู้จักหยุด ไม่ฟุ้งซ่าน จิตจะได้พัก จิตยิ่งพักนานเท่าไรบ่อยเท่าไร จิตก็จะกลับแข็งแรงขึ้น จิตที่แข็งแรงนั้น เวลาทำกิจการงานใดก็ตาม จิตจะไปกำกับการทำกิจการงานนั้นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสั่ง และการทำกิจการงานจะเป็นไปอย่างเรียบร้อยรวดเร็ว ไม่บกพร่องล่าช้า ต่างกับที่เคยเป็นเมื่อเวลาไม่มีสมาธิ เพราะสมาธิเป็นฐานของการทำกิจการงานเช่นนี้ ท่านจึงเรียกสมาธิด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า กรรมฐาน แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Basis of Action

ไม่มีความคิดเห็น: